โรคตับอ่อนอักเสบในสุนัข (Canine pancreatitis) โรคตับอ่อนอักเสบ อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูนักสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง แต่กลับพบสุนัขเริ่มเป็นโรคนี้กันมากขึ้น เนื่องจากการที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงมักจะชอบเลี้ยงให้สุนัขหรือแมวมีน้ำหนักตัวเยอะ อ้วนๆ เจ้าของอาจจะมองเห็นความน่ารัก แต่กลับเป็นภัยเงียบที่รุนแรงถึงชีวิตเลยทีเดียว
อาการ
อาจจะพบอาการได้ทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง โดยอาการที่พบ เช่น สุนัขจะซึม เบื่ออาหาร ไม่ยอมกินอาหารที่เคยกินแม้ว่าจะเป็นของโปรดก็ตาม สุนัขจะมีอาการปวดท้องอย่างมาก โดยมากมักจะปวดบริเวณท้องส่วนหน้า บางตัวพบว่าช่องท้องขยายขนาดร่วมกับปวดเกร็ง มีอาการอาเจียนหลายครั้งภายในไม่กี่ชั่วโมง อาจจะพบน้ำย่อยสีเหลืองออกมากับอาเจียนด้วย บางตัวพบอาการถ่ายเหลวร่วมด้วย และหากไม่ได้รับน้ำรับอาหารหลายวันจะส่งผลทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และอ่อนเพลีย บางตัวพบว่ามีไข้สูง ถ้าเจ้าของสังเกตุอาการได้ช้า สุนัขอาจจะจะเกิดภาวะช็อคจากความปวดรุนแรงหรือจากภาวะขาดน้ำได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง มีหลายปัจจัที่เป็นสาเหตุของโรคตับอ่อนอักเสบ เช่น
- การที่สุนัขได้รับอาหารไขมันสูง การให้สุนัขกินอาหารคน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
- โรคอ้วนในสุนัข
- โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ
- ได้รับอุบัติเหตุ กระทบกระแทกบริเวณช่องท้อง
- โรคเบาหวาน
- การได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาระงับชักบางชนิด (phenobarbital) ยากดภูมิบางชนิด (azathioprine) ยาลดอักเสบชนิดเสตียรอยด์ (prednisolone) เป็นต้น
- สุนัขสายพันธุ์เล็ก สายพันธุ์เทอร์เรีย สายพันธุ์ชเนาเซอร์ มีแนวโน้มเป็นโรคนี้ได้มากกว่า (breed predisposing disease)
การวินิจฉัย
สัตวแพทย์จะสอบถามประวัติ ร่วมกับการตรวจเลือด อาจจะพบว่ามีค่าเม็ดเลือดที่บ่งบอกการอักเสบสูงขึ้นกว่าปกติ ตรวจค่าเคมีในเลือด เช่นค่าตับ ค่าไต มักพบความผิดร่วมด้วย และจะตรวจค่าเอนไซม์ (canine pancreatitis lipase) จะพบว่าค่ามีความผิดปกติ การเอ๊กเรย์และอัลตราซาวด์ช่องท้อง อาจจะพบการอักเสบของเนื้อเยื่อตับอ่อนได้ แต่บางรายก็ไม่พบความผิดปกติจากการอัลตราซาวด์
การรักษา
การรักษาโรคตับอ่อนอักเสบในสุนัข เป็นการรักษาตามอาการ หากมีสาเหตุจากการได้รับยาจนเหนี่ยวนำให้เป็นตับอ่อนอักเสบ จำเป็นท่จะต้องหยุดยาหือลดขนาดการใช้ยาลงก่อน โรคนี้จะทำให้สุนัขปวดท้องอย่างมาก ดังนั้นหนึ่งในการรักษาหลักคือการควบคุมระดับความเจ็บปวด และป้องกันอาการแทรกซ้อนต่างๆ (เช่น เบาหวาน) โดยมักจะมีการให้สารน้ำทดแทน (intravenous fluid) เพื่อช่วยทดแทนน้ำที่เสียไปจากการอาเจียน และไม่ได้กินอาหาร และสัตวแพทย์จะเลือกให้ยาระงับการอาเจียนตามอาการ ถ้ามีอาการมากก็อาจจะต้องเพิ่มความถี่การให้ยา หรือเลือกใช้ยาระงับอาเจียนที่มีประสิทธิภาพสูง มักแนะนำให้งดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อลดการทำงานของตับอ่อน หลังจากนั้นแนะนำให้เปลี่ยนมาเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำ และค่อยๆแบ่งให้ครั้งละน้อยๆบ่อยครั้ง งดให้อาหารหรือขนมที่มีไขมันสูงเด็ดขาด
ที่มา :
https://www.akc.org/expert-advice/health/pancreatitis-in-dogs/