โรคลิวคีเมียในแมว (Feline Leukemia)สาเหตุโรคลิวคีเมียในแมว โรคลิวคีเมียในแมว เกิดจากเชื้อลิวคีเมียไวรัส (Feline Leukemia virus; FeLV) ซึ่งติดต่อกันทางน้ำลาย ทางเลือด หรือจากแม่สู่ลูกได้ พบว่าแมวที่ติดเชื้อมากกว่า 50% เสียชีวิต 2-3 ปีภายหลังการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลิวคีเมีย โรคนี้เป็นโรคติดต่อเฉพาะในแมวกับแมวด้วยกันเอง ไม่ติดต่อสู่คน หรือสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น
อาการโรคลิวคีเมียในแมว ในการติดเชื้อบางตัวพบว่าไม่แสดงอาการอะไรเลยในระยะแรก พบว่าแมว 72% ที่เลี้ยงรวมกันหลายตัว และแมว 97% ที่เลี้ยงตัวเดียวไม่แสดงอาการป่วยรุนแรง ส่วนในรายที่มีอาการป่วยอาจจะพบว่ามีอาการน้ำหนักตัวลด ซึม กินอาหารลดลง มีภาวะโลหิตจาง มีไข้ขึ้นๆ ลงๆ บางตัวพบอาการทางระบบประสาท เช่น สูญเสียการทรงตัว ปวดตามกล้ามเนื้อ ท่าเดินหรือการเดินผิดปกติไป บางรายมีภาวะสมองอักเสบ อาการชักได้ สามารถพบภาวะต่อมน้ำเหลืองโตได้ และเชื้อไวรัสบางสายพันธุ์เหนี่ยวนำทำให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ (Lymphoma) และแมวที่ติดเชื้อไวรัสลิวคีเมียมักจะมีภูมิคุ้มกันต่ำจึงง่ายต่อการติดเชื้ออื่นๆ
การวินิจฉัยโรคลิวคีเมียในแมว สามารถตรวจวินิจฉัยจากการตรวจด้วยชุดทดสอบ ELISA โดยใช้เลือดตรวจ ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อที่อยู่ในเลือด หากให้ผลบวกจะสามารถยืนยันได้ว่าแมวมีเชื้อลิวคีเมีย และแนะนำให้ตรวจหาเชื้อลิวคีเมียเพื่อเป็นการคัดกรองแมวก่อนรับเลี้ยงทุกตัว
การรักษาโรคลิวคีเมียในแมว โรคลิวคีเมียในแมวไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แนะนำให้เลี้ยงแมวที่ติดเชื้อแยกจากตัวอื่นในบ้าน ไม่ควรปล่อยออกไปนอกบ้าน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะไปรับโรคอื่นเพิ่มเติม ควรดูแลเรื่องอาหารให้ถูกต้องเหมาะสมตามช่วงวัย และมั่นใจว่าเป็นอาหารที่มีคุณภาพดี ควรพาน้องแมวไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจหาอาการผิดปกติอื่นๆ และจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆตามปกติ และควรเคร่งครัดเรื่องการป้องกันพยาธิภายในและพยาธิภายนอก พยายามให้น้องแมวมีสุขภาพแข็งแรงที่สุด
การป้องกันโรคลิวคีเมียในแมว โรคลิวคีเมียในแมวสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน แต่ก่อนการฉีดวัคซีนสัตวแพทย์จะตรวจคัดกรองโรคด้วยชุดทดสอบก่อน แนะนำให้แมวที่เลี้ยงแบบปล่อย หรือมีโอกาสสัมผัสแมวภายนอกได้รับวัคซีนลิวคีเมีย และก่อนการรับแมวตัวใหม่เข้ามาเลี้ยงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อลิวคีเมีย เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่แมวตัวอื่นๆ และแมวที่ป่วยเป็นลิวคีเมียควรแยกเลี้ยงในระบบปิดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
ที่มา :
https://trupanion.com/pet-care/feline-leukemia