โรคไข้น้ำนมในสุนัข (Milk fever in dogs)ไข้น้ำนมในสุนัขคืออะไร ? ไข้น้ำนมในสุนัขคือภาวะที่ระดับแคลเซียมในเลือดของสุนัขต่ำลงจากการตั้งครรภ์และต้องให้นมลูกจำนวนมาก สามารถพบได้หลังจากแม่สุนัขคลอดลูก และเลี้ยงลูกประมาณ 1-4 สัปดาห์หลังคลอด บางรายอาจจะพบได้ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
โรคไข้น้ำนมเกิดจากที่ร่างกายขาดแคลเซียม เนื่องจากสุนัขที่ตั้งท้องจะสูญเสียแคลเซียมจากการตั้งครรภ์ในช่วง 3 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ เนื่องจากจะมีการสร้างกระดูกของลูกสุนัขในครรภ์ทำให้มีการดึงแคลเซียมไปใช้จำนวนมาก และหลังจากคลอดลูกจะเสียแคลเซียมปริมาณมากไปกับการสร้างน้ำนมอีกด้วย หากแม่สุนัขได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือมีอาการป่วยระหว่างตั้งครรภ์ อาจจะเป็นสาเหตุของภาวะขาดแคลเซียมตามมาได้ นอกจากนั้นยังพบว่าสุนัขพันธุ์เล็ก หรือกลุ่ม Toy breed และสุนัขที่มีลูกหลายตัว มีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้มากกว่าสุนัขกลุ่มอื่น
อาการโรคไข้น้ำนมในสุนัข อาการที่พบได้มีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรง เจ้าของสุนัขที่ต้องดูแลแม่สุนัขลูกอ่อนต้องคอยสังเกตุต่างๆ ดังนี้
- มีอาการคันบริเวณใบหน้า หรือพยายามเอาหน้าไปถูกับพื้น
- หอบหายใจมากกว่าปกติ
- หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (tachycardia)
- ส่งเสียงร้องหรือหอนผิดไปจากปกติ
- มีอาการอ่อนแรง ไม่ลุกเดิน หัวตก คอพับ
- มีอาการเดินเซ หรือเดินแล้วล้ม การก้าวขาไม่สัมพันธ์กัน
- มีกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง กระตุกเป็นจังหวะต่อเนื่อง
- ไข้สูง จับตามตัวจะพบว่าตัวร้อน ใบหูร้อนแดง
- หากทิ้งไว้นานบางรายอาจจะพบอาการชักทั้งตัว และจะชักต่อเนื่อง
- อาจจะเกิดความผิดปกติของหัวใจ หรือหัวใจวายได้
การวินิจฉัย โรคไข้น้ำนมในสุนัข หากสุนัขของเราอยู่ในกลุ่มที่เพิ่งคลอดลูกและมีอาการเหล่านี้ ให้เจ้าของรีบนำตัวสุนัขส่งโรงพยาบาลสัตว์ทันที สัตวแพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติและอาการ ให้เจ้าของให้ข้อมูลเกี่ยวกับวันคลอด จำนวนลูกที่แม่สุนัขเลี้ยงอยู่ ประวัติการให้อาหารและการเลี้ยงดูอื่นๆ และสัตวแพทย์จะแนะนำให้ตรวจค่าเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับอิเล็กโตรไลท์ในเลือด รวมทั้งระดับแคลเซียมในเลือด ซึ่งมักจะพบว่ามีแคลเซียมต่ำกว่าปกติ
การรักษา
การรักษาหลักคือการรีบทดแทนแคลเซียมเข้ากระแสเลือด สัตวแพทย์จะรักษาโดยการให้แคลเซียม (Calcium gluconate) เข้าทางเส้นเลือดอย่างช้าๆ โดยปริมาณตามความรุนแรงของอาการและน้ำหนักตัวสุนัข และอาจจะมีการให้ซ้ำเข้าทางเส้นเลือดตามอาการ หรือให้จนกว่าอาการกล้ามเนื้อสั่นกระตุกจะหายไป เมื่อสุนัขมีอาการดีขึ้นสามารถปรับจากแบบฉีดมาให้สุนัขรับประทานแคลเซียมต่อเนื่องได้
หากสุนัขมีอาการชัก สัตวแพทย์อาจจะต้องให้ยาระงับชักในช่วงแรก เพื่อให้หยุดอาการลง และหากสุนัขได้รับการรักษาช้า หรือมีการปล่อยให้สุนัขชักต่อเนื่องนาน อาจจะเกิดภาวะสมองอักเสบ หรือสมองบวมได้ สัตวแพทย์อาจจำเป็นต้องรักษาอาการแทรกซ้อนนี้ร่วมด้วย ดังนั้นการป้องกันภาวะไข้น้ำนมเป็นสิ่งที่จัดการได้โดยการให้อาหารที่ครบถ้วนตามความต้องการ และอาจจะแนะนำเสริมแคลเซียมให้กับแม่สุนัขที่มีลูกจำนวนมาก หรือกลุ่มสุนัขพันธุ์เล็กในระหว่างที่ให้นมลูกได้
ที่มา :
https://www.lortsmith.com/need-help-now/dog/seizures-paralysis-collapse/eclampsia-milk-fever-in-dogs/