การปฐมพยาบาลเมื่อสุนัขถูกงูกัด การถูกงูกัดถือเป็นภาวะฉุกเฉินถึงชีวิตทั้งในสุนัข แม้กระทั่งในคนเองก็ตาม การพาน้องหมามารับการรักษาให้เร็วที่สุด และการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธี จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดให้กับสัตว์เลี้ยงของเรา
น้องหมาของเรามีความเสี่ยงจะถูกงูกัดหรือไม่ ? สุนัขที่เลี้ยงในคอนโด เลี้ยงในเมืองมีโอกาสน้อยกว่าสุนัขที่เลี้ยงแบบปล่อย หรือบ้านชานเมือง ซึ่งติดกับป่าข้างทาง คลอง หรือต้นไม้ใหญ่ บ้านร้างใกล้เคียง รวมทั้งบ้านที่มีหนูหรือกระรอก หรือสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆที่สามารถเป็นอาหารของงูได้จะมีความเสี่ยงมากกว่า โดยในประเทศไทยมีทั้งงูที่มีพิษและงูที่ไม่มีพิษ งูมพิษที่พบได้บ่อยได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูเขียวหางไหม้ งูสามเหลี่ยม งูแมวเซา ซึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดคือ งูเห่า
ลูกสุนัขอาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าสุนัขโต เนื่องจากอาจจะเล่นและถูกกัดโดยไม่รู้ตัว และน้องหมาที่มีนิสัยเฉพาะตัวหวงพื้นที่ ปกป้องพื้นที่ หรือมีนิสัยที่ค่อนข้างดุ หรือมีความอยากรู้อยากเห็น ไม่ขี้กลัว มีโอกาสจะถูกงูกัดมากกว่า
เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าน้องหมาของเราถูกงูกัด ? ถ้าเราเห็นว่ามีงูเข้ามาในบ้านหรือในบริเวณบ้าน หรือพบซากงูตาย ให้เราคิดไว้ก่อนเลยว่าน้องหมามีโอกาสที่จะสัมผัสกับงูและถูกกัด และต้องเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด โดยควรตรวจหาแผลหรือรอยกัดบริเวณใบหน้า รอบปาก ลิ้น และบริเวณลำคอ เนื่องจากน้องหมาจะพยายามเข้าใกล้โดยการดม หรือพยายามกัดหรือจับงูด้วยปาก โดยจะพบว่าบริเวณที่ถูกกัดจะบวม แดง และมีเลือดออก ตามมาด้วยอาการอ่อนแรง น้ำลายไหลมาก ท้องเสีย หรือถ้างูที่กัดมีพิษรุนแรงและมีพิษต่อระบบประสาท เช่น งูเห่า อาจจะพบอาการหมดสติ เป็นอัมพาต เรียกไม่รู้สึกตัว บางรายมีอาการชัก หยุดหายใจ และอาจจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา โดยระยะเวลาในการแสดงอาการนั้นแปรผันตามขนาดของพิษที่ได้รับ เช่นถ้างูที่ถูกกัดตัวใหญ่มีพิษมาก อาจจะทำให้เกิดอาการหลังถูกกัดเร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น หรือถ้าสุนัขโดนกัดเฉี่ยวๆ ไม่ได้โดนเต็มเขี้ยว อาจจะแสดงอาการน้อยกว่า หรือช้ากว่าได้ โดยมากจะแสดงอาการภายใน 1-2 ชั่วโมง หรือบางรายนานกว่านั้น
Step by Step หลังจากรู้ว่าสุนัขถูกงูกัด ?1. ถ้ามั่นใจว่าสุนัขถูกงูกัดแน่นอน ควรระบุชนิดของงูที่กัดให้ได้ ถ้าไม่ทราบควรถ่ายรูปมาให้สัตวแพทย์ดู หรืออาจจะนำซากงูที่ตายแล้วมาเพื่อความมั่นใจ แต่ถ้างูกัดแล้วหนีไปก็ไม่จำเป็นต้องตามมาให้ได้
2. ถ้าแผลที่ถูกกัดมีเลือดออก จำเป็นต้องช่วยห้ามเลือดสามารถใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าเช็ดตัวกดที่แผล หรือน้องหมาอาจจะมีน้ำลายไหลมากห้ามใช้มือเปล่าจับหรือสัมผัสน้ำลายหรือแผลเด็ดขาด เพราะเราอาจจะได้รับพิษงูผ่านเข้าทางแผลที่ผิวหนังได้ แม้ว่าจะเป็นรอยถลอกเพียงเล็กน้อยก็ตาม
3. ในระหว่างที่ปฐมพยาบาล ให้รีบตรวจสอบโรงพยาบาลสัตว์ที่ใกล้บ้านที่สุดว่ามีเซรุ่มในการรักษาเมื่อสุนัขถูกงูกัดหรือไม่ และรีบพาน้องไปให้เร็วที่สุด
4. ขณะเดินทางน้องหมาอาจจะไม่ได้สติ หรือม่สามารถพยุงตัวได้ ต้องมั่นใจว่าขณะเดินทางคอของสุนัขอยู่ในแนวระนาบ ไม่มีอาการคอพับ เนื่องจากอาจจะทำให้หายใจไม่สะดวก
5. เมื่อถึงโรงพยาบาลให้แจ้งกับสัตวแพทย์เกี่ยวกับชนิดของงู เพื่อให้เลือกเซรุ่มให้ตรงกับชนิดของงูที่กัด แต่ถ้าไม่ทราบสัตวแพทย์จะให้เซรุ่มแบบรวมแทน
แหล่งที่มา
https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/snakehttps://www.thesprucepets.com/snake-bite-2804649