โรคเชื้อราในแมว สาเหตุ โรคเชื้อรา (Dermathophytosis หรือ Ringworm) ในแมวส่วนมากเกิดจากเชื้อราที่ชื่อว่า Microsporum canis ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคผิวหนังในแมว แมวที่สุขภาพแข็งแรงจำนวนมากเป็นแหล่งแพร่โรคนี้โดยที่ไม่แสดงอาการ โดยมากแมวที่มีอาการคือลูกแมว แมวอายุมาก หรือแมวที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน น้องแมวที่เลี้ยงในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี เลี้ยงอย่างหนาแน่นหลายตัวในพื้นที่จำกัด หรือน้องแมวที่มีความเครียดสะสม จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากกว่าแมวทั่วไป
น้องแมวจะติดเชื้อจากสปอร์ของเชื้อราที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสปอร์เชื้อราสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นปี หากไม่มีการทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม ซึ่งแมวจะติดโดยการสัมผัสสปอร์เชื้อราจากแมวที่เป็นพาหะ หรือใช้ของร่วมกันกับแมวที่เป็นโรคเชื้อรา เช่น ที่นอน, ของเล่น, แปรงหวีขน เป็นต้น การสัมผัสสิ่งแวดล้อม หรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่เคยมีน้องแมวที่เป็นโรคนี้ก็อาจจะได้รับเชื้อมาได้
อาการของโรคเชื้อราในแมว แมวที่เป็นโรคเชื้อราที่ผิวหนัง จะมีอาการขนร่วงเป็นวงกลม ผิวหนังลอก เป็นสะเก็ดรังแค หรือเกิดรอยแดงรอบๆขอบวงกลมซึ่งเรียกลักษณะเฉพาะนี้ว่า Ringworm แมวส่วนหนึ่งสามารถหายได้เอง โดยอาจจะพบขนร่วงและรังแคเล็กน้อย แต่ในแมวที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันตก ลูกแมว แมวอายุมาก หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง น้องแมวที่เลี้ยงในสุขอนามัยไม่ดีมักจะไม่หายเอง และมักจะเป็นหลายบริเวณ ที่พบได้บ่อยคือ บริเวณใบหู รอบๆหัว หาง และหลัง
การวินิจฉัยโรค เมื่อนำน้องแมวที่มีอาการไปพบสัตวแพทย์ คุณหมอจะตรวจเบื้องต้นด้วยการใช้ไฟฉายส่องเชื้อรา (Wood lamp) โดยเมื่อส่องแล้วพบว่ามีการเรืองแสงที่บริเวณโคนของเส้นขน หมายถึงให้ผลบวกกับเชื้อ Microspora canis และนอกจากนั้นคุณหมอจะตรวจหาสปอร์ของเชื้อราจากเส้นขนด้วยกล้องจุลทรรศน์ และสามารถเพาะเชื้อราจากการเก็บเส้นขนและรังแคในบริเวณที่เป็นรอยโรคใหม่ ทั้งนี้ถ้าน้องแมวรับยารักษาหรือมีการอาบน้ำ อาจจะทำให้ตรวจไม่เจอเชื้อ
การรักษา การรักษาเชื้อราในน้องแมวที่เป็นไม่มาก เช่นเป็นเพียง 1-2 บริเวณ สัตวแพทย์อาจจะแนะนำให้รักษาด้วยการใช้ยาทา สเปรย์พ่นฆ่าเชื้อรา ร่วมกับการฟอกยาหรืออาบน้ำด้วยแชมพูฆ่าเชื้อราสำหรับสัตว์เลี้ยง ส่วนในรายที่เป็นหลายบริเวณ เป็นทั้งตัว หรือมีอาการเรื้อรัง เป็นๆหายๆ สัตวแพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้ยาทาภายนอก ร่วมกับการรักษาด้วยการกินยาฆ่าเชื้อรา (Itraconazole) ซึ่งจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากนี้มีผลต่อการทำงานของตับ และน้องแมวมีความไวต่อยานี้เป็นพิเศษ ไม่ควรหาซื้อมาให้น้องแมวกินเอง โดยระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับแต่ละตัว โดยมากใช้เวลาหลายสัปดาห์ (ประมาณ 4-12สัปดาห์) โดยจะหยุดยาได้ก็ต่อเมื่อผลเพาะเชื้อราเป็นลบ
การป้องกัน การป้องกันที่สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อราในแมวได้ คือ การจัดการสุขอนามัยของแมวให้เหมาะสม ทำความสะอาดบริเวณที่น้องแมวอยู่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ นอกจากนั้นควรแยกแมวที่เป้นโรคเชื้อราออกจากแมวที่ไม่มีอาการให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ติดกัน มีการใช้วัคซีนป้องกันเชื้อรา แต่ยังมีรายงานเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ชัดเจน มีรายงานว่าการให้วัคซีนกับแมวที่เป็นเชื้อราทำให้หายเร็วขึ้น
แหล่งที่มา https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23813824/